ยุติธรรมลงพื้นที่แก้หนี้นอกระบบ‏ [ทีมข่าว สวท.ขอนแก่น]


ยุติธรรมลงพื้นที่แก้หนี้นอกระบบ‏

ศูนย์ช่วยเหลือหนี้นอกระบบ กระทรวงยุติธรรมอึ่ง ! ศาลจังหวัดภูเขียว นายทุนรายเดียว ฟ้องลูกหนี้แพ้คดีรวด 400 ราย ยุติธรรมแจงปัญหา นายทุนรีดดอกเบี้ยสูงเกินกฎหมายกำหนด ลูกหนี้ทำสัญญาไม่เป็นธรรม และไม่มีทนายความให้คำปรึกษา

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวในงาน “หนี้นอกระบบกับการเข้าถึงความยุติธรรม” ที่วิทยาลัยการอาชีพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ว่า กระทรวงยุติธรรม ได้รวบรวมปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนแล้วนำมาจัดกลุ่มเพื่อหาทาง ช่วยเหลือ ผลการเก็บข้อมูลพบว่าประชาชน 20-30 ล้านคน มีความเดือดร้อนในเรื่องหนี้นอกระบบ ซึ่งลูกหนี้ส่วนใหญ่จะกู้เงินนอกระบบจากนายทุนในระดับอัตราดอกเบี้ยสูงเกิน กว่ากฎหมายกำหนด ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมจึงหาทางช่วยเหลือให้ความเป็นธรรมกับบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย   จากการรวบรวมจำนวนปัญหาของลูกหนี้นอกระบบ จะแบ่งลูกหนี้ออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มแรก กลุ่มที่กำลังอยู่ระหว่างการถูกทวงหนี้ กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีในชั้นศาล แต่ยังไม่มีคำพิพากษา และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ถูกศาลตัดสินคดีไปแล้ว โดยลูกหนี้ส่วนใหญ่จะแพ้คดี ซึ่งการช่วยเหลือในสองกลุ่มแรก คือ กลุ่มที่อยู่ระหว่างทวงถามหนี้และกำลังพิจารณาคดี จะสามารถให้ความเหลือได้มาก ส่วนกลุ่มที่สาม ซึ่งถูกตัดสินคดีไปแล้วนั้นความช่วยเหลือทำได้น้อย เพราะอยู่ในขั้นของการบังคับคดี ความช่วยเหลือจึงเป็นเพียงการบรรเทาปัญหาให้ลดลงเท่านั้น สำหรับ การดำเนินการของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรมดังกล่าว จะดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีหนี้กับนายทุนคนเดียวกันตั้งแต่ 50 ราย ขึ้นไป ซึ่งปรากฏว่าในภาคอีสานมีนายทุนปล่อยกู้เป็นอาชีพรายใหญ่นั้นจำนวนไม่ถึง 20 ราย และส่วนใหญ่จะมีคนค้ำให้เขาอยู่ได้  ซึ่ง ขณะนี้กำลังดำเนินการอย่างจริงจังในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และชัยภูมิเป็นลำดับแรก เพื่อจะใช้เป็นกรณีตัวอย่างในการให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้ทั่วประเทศให้ เข้าถึงความยุติธรรมต่อไป

พ.ต.อ.ทวี สอดส่องรองปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า ปัญหาของลูกหนี้ส่วนใหญ่ที่พบนั้น เป็นปัญหาในเรื่องการกู้ในอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด คือ กฎหมายกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือประมาณ ร้อยละ 1.50 ต่อเดือน แต่กรณีที่พบส่วนใหญ่ เช่นกรณีที่ส่งฟ้องศาลจังหวัดภูเขียว ระหว่าง นางวิไลพร มะลิทอง กับลูกหนี้ 400 รายที่ศาลตัดสินไปแล้วนั้น อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ร้อยละ 48 ต่อปี หรือประมาณ ร้อยละ 4 ต่อเดือน คิดเป็นเงินมูลค่า 41 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้เราจะเอาผิดกับเจ้าหนี้ได้ในกรอบของกฎหมายในแง่การจัดเก็บภาษีราย ได้ และการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด รวม ไปถึงการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ลูกหนี้กู้มาในวงเงินจำนวนหนึ่ง แต่ในใบสัญญาเป็นจำนวนวงเงินกู้ที่มากกว่า ซึ่งตรงนี้ลูกหนี้ไม่ได้ตรวจสอบเอกสาร หรือเป็นภาวะจำยอมที่ลูกหนี้ถูกเอารัดเอาเปรียบ    “ปัญหา ที่ลูกหนี้ส่วนใหญ่ต้องถูกตัดสินแพ้คดี เนื่องจากลูกหนี้ไม่ได้ไปฟังคำพิจารณาคดีของศาล ทำให้ไม่สามารถเบิกความสู้คดีได้ นอกจากนี้ลูกหนี้ไม่ได้รับหมายศาล จึงไม่รู้ว่าจะมีการตัดสินยึดทรัพย์เพื่อนำมาใช้หนี้ที่กู้ไว้ ดังนั้น  ลูกหนี้จึงถูกฟ้องล้มละลายจำนวนมาก ซึ่งแนวทางต่อไปคือการป้องกันไม่ให้ลูกหนี้กู้เงินในระดับอัตราดอกเบี้ยที่ กำหนด ลูกหนี้ต้องชดใช้หนี้ตามจำนวนที่เป็นจริง” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าว

ด้าน นายอรุณ เคยสนิท อัยการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สิ่งที่ลูกหนี้ขาด คือ เมื่อใช้หนี้แล้วไม่มีการลงลายชื่อไว้เป็นหลักฐาน แม้จะใช้หนี้หมด แต่ไม่มีหลักฐานในการชดใช้ จึงไม่สามารถใช้ยืนยันได้ ประการต่อมา คือระหว่างที่ดำเนินคดีหรือระหว่างการขอกู้นั้น ลูกหนี้ไม่มีทนายความให้คำปรึกษา ว่าควรจะทำอย่างไร สัญญาที่ทำกับนายทุนถูกต้องหรือไม่ นายทุนให้เซนต์ชื่อก็เซนต์ ส่งผลให้การดำเนินคดีถูกตัดสินแพ้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากลูกหนี้เดินเข้าไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่ในระหว่างการดำเนินคดี โอกาสในการเข้าถึงความยุติธรรมก็จะมีมากขึ้น สิ่งที่เป็นปัญหาและทำให้ผู้เดือดร้อนไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมเพราะ ประชาชนขาดความรู้

นายธงชัย พรเศรษฐ์ กรรมการบริหารฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 60 ของประเทศเป็นหนี้ หากเป็นหนี้ในระบบธนาคาร อัตราดอกเบี้ยก็จะอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่หนี้นอกระบบอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง แต่ด้วยเหตุผลและความจำเป็นมากมายชาวบ้านก็ต้องกู้ เพราะไม่สามารถเข้าไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ เนื่องจากติดกฎระเบียบของธนาคารที่กำหนดไว้ แต่การคิดอัตราดอกเบี้ยสูงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษ จำคุก 1 ปี ซึ่งเป็นกฎหมายตั้งแต่ พ.ศ.2475 ยังไม่มีการปรับใช้ให้ทันสมัย

อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่เข้าไม่ถึงความยุติธรรม ไม่มีทนายความคอยให้คำปรึกษา ซึ่งวันนี้ทางสมาคมฯ ได้นำทนายความมาเปิดคลินิกให้คำปรึกษากับลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนที่ อำเภอชุมแพจังหวัดขอนแก่น เพื่อแนะนำเรื่องสัญญาต่างๆ วิธีการแก้ไข เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซี่งทางสมาคมฯยินดีที่จะให้คำปรึกษาปัญหาทางด้านกฏหมายต่างๆ ของผู้เดือดร้อนในทุกระดับติดต่อสำนักงานกฎหมาย 081-9153155

นาย พยัต ชาญประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ ของหนี้นอกระบบนั้น พอจะสรุปได้ดังนี้คือ การทำสัญญากู้ยืมนั้นส่วนใหญ่จะใช้ทรัพย์สินที่เป็นที่ดิน ที่อยู่อาศัย สำหรับเกษตรกรอาจจำเป็นต้องนำรถไถนาซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบ อาชีพเป็นหลักค้ำประกับเป็นส่วนใหญ่ เมื่อถูกตัดสินแพ้คดีจึงถูกยึดทรัพย์ ประการต่อมาคือชาวบ้านมีความซึ่อเป็นต้นทุนมักจะเชื่อคนง่าย การทำสัญญากู้ยืมจะไม่ค่อยอ่านในรายละเอียดเนื้อหา แต่ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเลย ทำให้เสียเปรียบเมื่อถูกดำเนินคดี   ต่อ มา คือเงินที่กู้มานำเอาไปใช้ในสิ่งไม่จำเป็น หรือใช้เงินในส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ จึงทำให้เงินหมด และไม่สามารถใช้หนี้คืนได้ เมื่อลูกหนี้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบแล้ว จะไม่ต่อสู้เพื่อทวงความยุติธรรมกลับมา ทำให้เกิดนายทุนชนะคดี ซึ่งหากลูกหนี้เจอปัญหาแล้วต้องต่อสู้ อย่าท้อการแก้ปัญหาจึงจะสำเร็จ

ข่าว โดย  เพชรรัตน์ ไชยกาล และทีมข่าว สวท ขอนแก่น

ติดต่อ  Email: news_radiokk@hotmail.com

1 comments

  1. admin

    ขอขอบคุณ ที่พากเพียรรวบรวมข่าวอันเป็นประโยชน์มากมายต่อประชาชนที่กำลังประสปปัญหาหนี้สิน

ใส่ความเห็น