คณะอนุกรรมการนโยบายประกันราคาข้าวจังหวัดขอนแก่นแจ้งอนุมัติเพิ่มเงินชดเชยให้เกษตรกรกว่า92ล้านบาท [ทีมข่าว/สวท.ขอนแก่น]


คณะอนุกรรมการนโยบายประกันราคาข้าวจังหวัดขอนแก่นแจ้งอนุมัติเพิ่มเงินชดเชยให้เกษตรกรกว่า92ล้านบาท

นาย ธนวัฒน์ พลอยโสภณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวภายหลังประชุมอนุกรรมการนโยบายการประกันราคาข้าว ว่า จากกรณีที่มีข้อร้องเรียนจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิจำนวน 24,029 ราย เพื่อขอรับเงินส่วนต่างระหว่างราคาอ้างอิงในตลาดกับราคาที่รัฐบาลรับประกัน ในฤดูกาลปลูกข้าวนาปี 2552/53 ซึ่งผู้ร้องเรียนได้รับเงินส่วนต่างในการประกันตามหลักเกณฑ์เดิมที่ระดับ 100-405 บาทต่อตันนั้น  ภายหลัง ครม.มีมติปรับหลักเกณฑ์ใหม่ ทำให้เงินชดเชยดังกล่าวเพิ่มเป็นตันละ 1,580 บาท จึงทำให้เกษตรกรกลุ่มดังกล่าวออกมารวมตัวกันเรียกร้องขอรับเงินชดเชยเพิ่ม  ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส ได้ทำการตรวจสอบในเรื่องนี้ว่า เกษตรกรเหล่านั้น   เป็น ผู้เลือกหลักเกณฑ์เองหรือว่า ธ.ก.ส.เป็นผู้ให้ข้อมูลแก่เกษตรกรในการตัดสินใจ ซึ่งเรื่องนี้เวลาผ่านมานานแล้วทำให้ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการเลือกหลัก เกณฑ์ในการประกันราคาข้าวหอมมะลินั้น มาจากใคร แต่เกษตรกรได้รับทราบข้อมูลแล้วว่า  รัฐได้อนุมัติ เงินชดเชยในส่วนนี้มาแล้ว ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติ 3 ข้อ คือ 1.ไม่สามารถพิสูจน์เป็นรายบุคคลได้ว่าเกษตรกรเลือกหลักเกณฑ์เองหรือไม่ 2.การใช้วิธีพิจารณาการชดเชยเพิ่มเติมจะใช้มาตรการเดียวกันในภาพรวม และ 3.ผลการชดเชยดังกล่าวจากการปรับเปลี่ยนตามมติ ครม.

นาย ธนวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับจำนวนเงินชดเชยในส่วนของเกษตรกรที่รัฐบาลอนุมัติมานั้นในส่วนของ จังหวัดขอนแก่นอยู่ในวงเงินประมาณ 92 ล้านบาท จากยอดรวมทั้งประเทศ 693 ล้านบาท  ส่วนวิธีปฏิบัตินั้นยังมีขั้นตอนที่จะต้องนำเสนอเพื่อให้ส่วนกลางพิจารณาเพิ่มเติมในส่วนของการชดเชย   และให้ ธ.ก.ส  พิจารณาปรับหลักเกณฑ์และหาทางช่วยเหลือเกษตรกรและนำเสนอให้ส่วนกลางพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาในปัญหาของการเกษตรกรที่ทำข้าวนาปรังปี2553/54   พบว่า เกษตรกรบางส่วนนำพื้นที่นา   ที่ ไม่ติดกับแหล่งน้ำมาขึ้นทะเบียน พร้อมการแจ้งข้อมูลที่เป็นเท็จ เช่น การไปเช่าพื้นที่ที่ติดกับแหล่งน้ำคนละไร่-2 ไร่ แล้วถ่ายภาพมาเป็นหลักฐาน พร้อมกับนำโฉนดที่ดินแปลงอื่นที่ติดกับแหล่งน้ำสวมเข้ามา ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาการประกันราคาข้าวนาปรังนั้น จะอนุมัติเฉพาะที่ดินที่ติดกับแหล่งน้ำเท่านั้น และให้เกษตรกรถ่ายภาพมาเป็นหลักฐาน ซึ่งการสุ่มตรวจสอบ  พบ ว่ามีการแจ้งข้อมูลไม่ตรงกับความจริง ซึ่งทางคณะกรรมการจึงพิจารณาให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

ทีมข่าว/สวท.ขอนแก่น/ 4 มี.ค.54

ใส่ความเห็น